กลับมาคึกคักอีกครั้ง บรรยากาศท่องเที่ยวสังขละบุรี นทท.แน่นสะพาน

นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาท่องเที่ยวบนสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ และชุมชนมอญบ้านวังกะ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอสังขละบุรี แม้จะไร้เด็กปะแป้ง เด็กเทินหม้อ และมัคคุเทศก์น้อย ที่เป็นสีสันของสะพานฯ โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นคณะดูงานจาก อปท.ชมรมผู้สูงอายุ ที่เลือกมาท่องเที่ยวดูงานในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี พากันถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกบนสะพาน ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย อุณหภูมิ 22 องศา

ขณะที่เมื่อวานนี้ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลวังกะ คณะอนุกรรมการจัดระเบียบบริเวณโดยรอบสะพานอุตตมานุสรณ์และชุมชนบ้านวังกะ ที่มีนายสุทธิพร ศิวเวทพิกุล นายอำเภอสังขละบุรีเป็นประธานคณะอนุกรรมการ มีเทศบาลตำบลวังกะเป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการ มีพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม เป็นที่ปรึกษาฯ

มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เป็นกรรมการ ได้จัดประชุมครั้งที่ 2/2565 เพื่อขอความพิจารณาทบทวนคำสั่งห้ามเด็กทำกิจกรรมหารายได้บนสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานไม้) หลังจากเกิดปัญหาความไม่เรียบร้อย การนำเด็กมาหาผลประโยชน์ของผู้ปกครองบางคน

จนทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ประชาชน นักท่องเที่ยว จนนำมาสู่การประกาศห้ามเด็กทำการกิจกรรมบนสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานไม้) ของคณะอนุกรรมการฯเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากได้มีการแจ้งให้กับเด็กและผู้ปกครอง ทราบ เพื่อเตรียมปรับตัวจนเกิดเป็นข่าวดัง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

ซึ่งในเวลาต่อทางเทศบาลตำบลวังกะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหาทางออก โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศบาลฯร่วมกับมูลนิธิวันสกาย(One sky)และภาคประชาชน ในพื้นที่ทำการสำรวจข้อมูลเด็กที่ทำกิจกรรมบนสะพานฯที่ผ่านมา จนพบว่าจำนวนเด็กทั้งหมด 55 คน มีอายุตั้งแต่ 6-13 ปี มีสัญชาติไทย 26 คน มีบัตรที่ออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย(บัตรสีต่างๆ) 23 ราย โดยเด็ก 54 คนเรียนหนังสือในโรงเรียนของรัฐและเอกชนในพื้นที่ มีเพียง 1 คนที่ไม่ได้เรียน

ซึ่งในที่ประชุมฯวันนี้ได้มีมติเห็นชอบให้เทศบาลนำเด็กมาทำกิจกรรมบนสะพานศรีสุรรณคีรี(สะพานแดง)ซึ่งเป็นสะพานที่อยู่ในการดูแลของเทศบาลตำบลวังกะ โดยมีการกำหนดอายุเด็กที่จะร่วมกิจกรรมต้องมีอายุตั้งแต่ 10-13 ปี เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและข้อกำหนด ของหน่วยงานที่ดูแลเด็ก พร้อมทั้งจะปรับลดกิจกรรมให้เหลือเพียงการเทินหม้อ หรือเทินดอกไม้

เพื่อลดความเสียงในการเรื่องโรคติดต่อ ทั้งนี้เทศบาลตำบลวังกะ จะร่วมกับมูลนิธิวันสกาย(One sky) และภาคประชาชนในพื้นที่ จัดการอบรมให้ความรู้แก่เด็กๆ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่บนสะพานแดง และพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้ทันวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่เทศบาลตำบลวังกะและอำเภอสังขละบุรี กำหนดเปิดให้เด็กๆทำกิจกรรมหารายได้อีกครั้งบนสะพานแห่งนี้

About the author

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *