หมูเถื่อนระบาดหนัก กิโลละ 135 บาท ร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ แห่ซื้อเพียบ

หมูเถื่อนทะลักเข้าประเทศ ขายเกลื่อนราคาถูก 135 บาท/กก. ร้านข้าวแกง-หมูกระทะแห่ซื้อ ชี้เป็นขบวนการใหญ่ทั้งสำแดงเท็จเลี่ยงภาษีผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งลักลอบนำเข้าทางเรือประมง-ด่านชายแดนเพื่อนบ้านมาขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ ให้โรงเฉือดสวมใบอนุญาตชำแหละขาย กระทบผู้เลี้ยงในประเทศหนัก โรงเชือดรับซื้อหมูจากฟาร์มลดลง อธิบดีกรมปศุสัตว์บอกขอตรวจสอบข่าวก่อน ยันมีมาตรการเข้มงวดอยู่แล้ว

แหล่งข่าวในวงการผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever) หรือ ASF ขึ้นในประเทศ มีผลทำให้ แม่พันธุ์หมู จากทั่วประเทศ 1.1 ล้านตัว (ผลิตลูกหมูหรือ หมูขุน ได้ 21-22 ล้านตัว/ปี) เสียหายไปกว่า 50% ทำให้เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว และผลิตเป็นหมูขุนได้เพียง 12-13 ล้านตัว/ปี หรือเท่ากับ ซัพพลาย หมูหายไปกว่า 10 ล้านตัว

ประกอบกับผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายเล็กยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะกลับมาเลี้ยงหมูใหม่ เนื่องจากมีอัตราการตายและต้นทุนการเลี้ยงสูง ส่งผลให้ราคาหมูเนื้อแดงในประเทศพุ่งทะยานขึ้นไปใกล้แตะเพดาน 300 บาท/กก. แต่ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่ ผิดปกติ ขึ้นในวงการผู้เลี้ยงหมู เนื่องจากราคาหมูชำแหละได้ลดต่ำลงอย่างไม่มีสาเหตุ ทั้ง ๆ ที่การเลี้ยงหมูยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรค ASF ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างวิพากษ์วิจารณ์และพยายามหาสาเหตุที่ราคาหมูลดลง

จนพบว่า ปัจจุบันเกิดกระบวนการ ลักลอบ นำเข้าหมูชำแหละและเครื่องในเถื่อนจากต่างประเทศ โดยเป็นกระบวนการที่ใหญ่โตมาก เพราะหมูชำแหละเถื่อนที่ไม่มีที่มาที่ไประบาดไปตามตลาดต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้จะสังเกตได้ว่า มีการจำหน่ายในราคาต่ำประมาณ กก.ละ 135-145 บาท และยังพบว่า มีโรงเชือดซื้อหมูเนื้อแดงเถื่อน ไปสวม ใบอนุญาต ส่งขาย มีกำไรดีกว่ารับซื้อหมูจากเกษตรกรไปเชือดเอง

หมูเถื่อนเหล่านี้บรรจุเป็นกล่องมาในตู้คอนเทนเนอร์ ระบุต้นทางมาจากประเทศเยอรมนี สเปน ส่วนใหญ่มาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมทำเอกสารสำแดงเท็จ จะระบุเป็นปลา เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจเรื่องโรคระบาดและหลบเลี่ยงการขอใบอนุญาตขนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ เมื่อนำเข้ามาได้แล้วก็จะกระจายนำไปฝากห้องเย็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ และห้องเย็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก วางขายกันเกลื่อนตลาดในร้านขายหมูหรือช็อปหมูที่เปิดขายกันทั่วประเทศ จนส่งผลกระทบต่อราคาหมูมีชีวิตที่ฟาร์มของเกษตรกรไปเข้าโรงเชือดลดลงจำนวนมาก แหล่งข่าวกล่าว โรงเชือดนำหมูเถื่อนสวมใบอนุญาต ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ทำไมหมูเถื่อนเหล่านี้จึงสามารถจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าหมูชำแหละในประเทศนั้น

เป็นเพราะต้นทุนต่อหน่วยในการเลี้ยงหมูต่างประเทศต่ำกว่าไทย เพราะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก โดยต้นทุนหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มตกประมาณ 40 บาทต่อ กก. ยิ่ง เครื่องใน ยิ่งแทบไม่มีราคา เพราะคนไม่นิยมบริโภคกลายเป็นส่วนเกินที่ทิ้ง ส่งผลให้ผู้ลักลอบนำเข้าหมูเสียค่าใช้จ่ายเพียงค่าขนส่งมาถึงไทยเท่านั้น เปรียบเทียบกับเกษตรกรไทยมีต้นทุนการเลี้ยงหมูอยู่ที่ 93-98 บาทต่อ กก.

ตอนนี้เกษตรกรขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม 104-110 บาท/กก. เมื่อซื้อหมูมาเข้าโรงเชือด จะมีต้นทุนค่าเชือดต่าง ๆ จะตกประมาณ 200-210 บาท ซึ่งในหมู 1 ตัว มีเนื้อแดงเพียง 50-55% ที่เหลือเป็นเครื่องใน ขณะที่ราคาหมูเนื้อแดงในตลาดแต่ละภาคขายเฉลี่ยประมาณ 170-230 บาท/กก. ดังนั้นการที่โรงเชือดซื้อหมูเนื้อแดงเถื่อนมาสวมใบอนุญาตจึงได้กำไรดีกว่า ไม่ต้องถัวเฉลี่ยราคาเครื่องในที่ขายได้ในราคาต่ำ

การที่กรมปศุสัตว์แถลงจับหมูเถื่อน-ไก่เถื่อนได้นั้น เป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ยืนยันว่า มันมีกระบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเกิดขึ้นจริง แต่มันใหญ่โตกว่าที่จับได้มาก มีการพูดกันถึงขั้นที่ว่า สามารถนำเข้าหมูเถื่อนได้ไม่ยาก เพราะมีการเคลียร์สิ่งที่เรียกกันว่า “เคลียร์ค่าตู้แล้ว” จึงมีหมูเถื่อนราคาถูกกว่าปกติมาวางจำหน่ายในตลาดทั่วไปได้ง่าย ๆ ผ่านทางเครือข่ายห้องเย็นทั่วประเทศ” แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต

ด้านนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือปกติปริมาณการเลี้ยงหมูจะไม่เพียงพอต่อการบริโภค จะมีการส่งหมูจากพื้นที่ภาคกลางขึ้นมาขาย ปกติหมูมีชีวิตเข้ามาเชือดในพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตัวต่อเดือน และมีการนำเข้าซากหมูหรือหมูที่เชือด โดยมีใบอนุญาตถูกต้องเข้ามาประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน

แต่สมาคมมีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้า ซากหมู ที่มีใบอนุญาตขนย้ายถูกต้องขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านกิโลต่อเดือน ส่งผลกระทบทำให้กระทบยอดขายหมูมีชีวิตในฟาร์มเริ่มช้าลง 30% เราไม่รู้ว่าหมูที่เข้ามาจะเป็นหมูเถื่อนหรือไม่ เพราะหมูที่เข้ามาทั้งหมดมีใบอนุญาตระบุถูกต้อง แต่เป็นซากหมูจำนวนมากที่เข้ามาตีตลาดในภาคเหนือ โดยขายกันในราคา 230 บาทต่อ กก. ส่งผลทำให้เกษตรกรขายหมูได้น้อยลง เช่น เขียงเคยเข้ามาจับ 3 ตัวต่อวันก็จับเหลือเพียง 1-2 ตัวต่อวัน

โดยราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในพื้นที่ภาคเหนือราคาประมาณ 110 บาท/กก. ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงหมูที่ยังขายไม่ได้ต่อไป และเริ่มสะสมน้ำหนักเกิน 100 กก. ต้นทุนการเลี้ยงยิ่งสูงขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้หวั่นเกรงจะกระทบต่อราคาขายจะเริ่มลดลง แต่ในกลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่คุยกันพยายามตรึงราคาไว้ไม่ให้ลง เพราะต้นทุนการเลี้ยงสูง เพราะการเลี้ยงให้รอดจากโรค ASF ยาก ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ก็สูง ร้านอาหารชี้หมูเถื่อนมาจากภาคใต้

พร้อม ๆ กันนี้มีรายงานข่าวจากวงการธุรกิจร้านอาหารเข้ามายืนยันอีกด้วยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นภาพการ ลักลอบ นำเข้าเนื้อหมูเถื่อนเข้ามาจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ โดยมีต้นทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ขนส่งผ่านทางเรือประมงและด่านชายแดนในภาคใต้ โดยเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาจะเป็นหมูชำแหละแช่แข็ง มีโรงพักหมูอยู่ที่จังหวัดใหญ่ๆ เพื่อส่งกระจายต่อไปตามแหล่งต่างๆ

ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และขายถูกมากในราคา กก.ละ 100-120 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของเขียงหมู ตามตลาดนัดจากหลาย ๆ พื้นที่รับไปจำหน่ายต่อ เพราะเนื้อหมูที่แช่แข็งมาละลายน้ำ ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะคล้าย ๆ หมูสด ทั่วไป ลูกค้าหมูเถื่อนจะเป็นร้านอาหารรายเล็ก ๆ บางแห่ง เช่น ร้านข้าวราดแกง ร้านหมูกระทะ ที่ซื้อมาเพื่อประกอบอาหารเพราะต้นทุนถูกกว่าการซื้อหมูเขียงตามปกติที่ราคา กก.ละ 200 กว่าบาท

ประกอบกับมีบางช่วงที่หมูของผู้เลี้ยงในประเทศโตไม่ทันความต้องการ จึงหันไปซื้อหมูจากการลักลอบนำเข้าในลักษณะนี้ แหล่งข่าวกล่าว ทั้งนี้ หมูเถื่อนดังกล่าวเชื่อกันว่า เป็นหมูที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการเลี้ยงที่ต้นทุนต่ำ และเป็นหมูที่ตายแล้วหรือเป็นหมูที่น็อก อาจทำให้เนื้อหมูไม่สดและอาจมีการปนเปื้อน และอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้

ล่าสุด ประชาชาติธุรกิจ ได้สอบถามเรื่องหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าไปยังนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพียงว่า ขอตรวจสอบก่อนว่ามีการรายงานประเด็นดังกล่าวจริงหรือไม่ พร้อมกับยืนยันว่า กรมปศุสัตว์มีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดในการนำเข้าซากสัตว์และการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์และชิ้นส่วนที่ผิดกฎหมายจากต่างประเทศ ที่ไม่มีเอกสารการเคลื่อนย้ายหรือขออนุญาตหรือโดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ รายงานและดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง

โดยหากพบกระทำความผิดตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์กับกรมศุลกากร เรื่องปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร ผ่านด่านศุลกากร กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบคุมเข้มป้องกันการลักลอบนำเข้า ทำลายแหล่งเนื้อเถื่อน และลงโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ได้ตรวจสอบห้องเย็นเพื่อกันการกักตุนสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการนำเข้าหมูล่าสุดระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 ปรากฏมีการนำเข้าเนื้อหมู/ส่วนอื่นของหมูปริมาณ 43,626.79 ตัน มูลค่า 1,224.60 ล้านบาท, ขาหมูหมักเกลือปริมาณ 76.07 ตัน มูลค่า 29.78 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์สุกร ปริมาณ 443.71 ตัน มูลค่า 110.05 ล้านบาท และชิ้นส่วนอื่นของสุกร ปริมาณ 43,107.02 ตัน มูลค่า 1,085.37 ล้านบาท

About the author

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *