ป.ป.ช. ขอชี้แจงเรื่อง “ครูชัยยศ” ไม่ใช่ปมแบ่งข้าวนักเรียนยากจน แต่เซ็นรับรองค่าอาหารเป็นเท็จ

จากกรณีที่ นายชัยยศ สุขต้อ ครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนยางเปา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิด ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุอาหารกลางวันนักเรียนอนุบาลและประถม ที่อดีตผู้บริหารโรงเรียนบริหารงบอาหารกลางวันให้เด็กมัธยมได้กินด้วย

เบื้องต้น ครูชัยยศยังอาสาสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนยางเปาเหมือนเดิม โดยไม่มีเงินเดือน แต่ลดชั่วโมงการสอนลง เหลือสอนวิชาศิลปะ 3 ชั่วโมง และสอนวิชาขับร้องเพลง 1 ชั่วโมง ส่วนการขายโรตีเป็นอาชีพเสริมไม่ได้ทำทุกวัน จะใช้เวลาหลังว่างจากการสอนพิเศษ และกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำอาหารเลี้ยงเด็กนั้น

ล่าสุด คืนวันที่ 7 ธันวาคม นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโรงเรียนบ้านยางเปาเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 มีการขออนุญาตให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

โดยมีนักเรียน 2 ประเภท คือนักเรียนไปเช้ากลับเย็นและนักเรียนพักนอน โดยนักเรียนพักนอนได้รับการสนับสนุนค่าอาหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5

ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษาจะได้รับการสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจากองค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย โดยเมื่อปี 2561 โรงเรียนบ้านยางเปามีนักเรียนระดับประถมศึกษาและอนุบาล จำนวน 235 คน นักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 244 คน โดยมีนักเรียนพักนอน (รวมประถมและมัธยม) จำนวน 169 คน

การดำเนินการจัดหาอาหารกลางวัน กำหนดให้โรงเรียนต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และจะจ่ายเงินได้ เมื่อมีการตรวจรับและลงลายมือชื่อของคณะกรรมการตรวจรับครบถ้วน

โดย นายจรัส สุพรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางเปา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ และตรวจรับอาหารกลางวันนักเรียน มี นางบุณยนุช ใจปินตา เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหาร นางจิราพรรณ จาตุนันท์ และ นายชัยยศ สุขต้อ เป็นกรรมการตรวจรับ การจัดหาอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนพักนอน ปี 2561 จำนวน 15 สัปดาห์

ปรากฏว่า นางบุณยนุชไม่ได้ดำเนินการขออนุมัติจัดซื้อตามแบบรายการและเอกสารของทางราชการที่กำหนด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

นางบุณยนุชทำบันทึกขออนุมัติยืมเงินโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และอาหารนักเรียนพักนอน เป็นรายสัปดาห์ ซึ่งนายจรัสได้อนุมัติให้ยืมเงินสำหรับโครงการอาหารกลางวันฯ โดยไม่ได้สั่งการให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ

เมื่อนางบุณยนุชได้ทำการยืมเงินโครงการอาหารกลางวัน สัปดาห์ละประมาณ 60,000 บาท แล้ว นางบุณยนุช เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารและจ้างคนครัวเพื่อประกอบอาหารเองไม่เกินสัปดาห์ละ 48,500 บาท (โดยไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีหลักฐานการเข้ามาประกอบอาหารแต่อย่างใด)

ในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท จำนวน 15 สัปดาห์ เป็นเงิน 172,240 บาทนั้น พบว่าในระหว่างสัปดาห์นางบุณยนุชมีการจัดซื้อเพิ่มเติมจาก 2 แห่ง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าแต่ละสัปดาห์ได้มีการจัดซื้อเป็นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ขอใบเสร็จรับเงินจากร้านค้า

เมื่อตรวจสอบเอกสารชดใช้เงินยืม นางบุณยนุช ได้จัดพิมพ์ใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารเป็นเท็จ แยกเป็นรายวัน วันละ 3 ใบ รวม 15 ใบ ทั้งที่มีการส่งอาหารสดและอาหารแห้งมายังโรงเรียนบ้านยางเปาสัปดาห์ละครั้ง โดยระบุใบรับรองรายการจ่ายเงินค่าอาหารไม่เกินใบละ 10,000 บาท

โดยเพิ่มราคาต่อหน่วยของวัตถุดิบ ซึ่ง นางจิราพรรณ และ นายชัยยศ ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับได้ลงลายมือชื่อรับรอง และนางบุณยนุชจึงได้นำใบรับรองดังกล่าวมาเป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน

ดังนั้น การที่ นางบุณยนุช ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้ออาหารกลางวันทำการขออนุมัติยืมเงินเพื่อจัดหาอาหารกลางวัน และ นายจรัส อนุมัติให้ยืมเงินโดยไม่ได้ขออนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และ นางบุณยนุช ทำใบรับรองการจ่ายเงินเป็นหลักฐานการใช้จ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน

โดยมี นางจิราพรรณ และ นายชัยยศ ลงชื่อรับรองอันเป็นเท็จ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบในภายหลังว่าการจัดซื้อจัดหาอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านยางเปาดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ อีกทั้งการไม่ดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบย่อมเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนบ้านยางเปา

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเห็นได้ว่ามีประเด็นที่คลาดเคลื่อนจากการนำเสนอข่าว จำนวน 2 ประเด็น คือยอดเงินในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท รวม 15 สัปดาห์ เป็นเงินจำนวน 172,240 บาท ที่ไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ และจากการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนว่านายชัยยศถูกปลดออกจากราชการ

สืบเนื่องจากการที่นายชัยยศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับอาหารกลางวัน นำอาหารในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาแบ่งให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นรับประทานนั้น เป็นการเผยแพร่ข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

About the author

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *