ชัชชาติ เผยยังไม่เข้าพบนายก ประยุทธ์ ลั่นไม่รู้จะคุยอะไร ขอทำงานเพื่อประชาชนก่อน

ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว โดยในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กทม.ได้เดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า พร้อมกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาว่าการฯ จากนั้นได้ร่วมพิธีส่งมอบงานในหน้าที่ ก่อนจะเดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

เพื่อร่วมพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลาว่าการฯ ต่อมา นายชัชชาติ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงสิ่งที่จะเริ่มทำ ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 2. ความปลอดภัยด้านการจราจรและการข้ามทางม้าลาย 3. การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย ซึ่งจะยังยึดนโยบายเดิมที่ กทม. เคยประกาศไว้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง 4. ปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ซึ่งในวันที่ 2 มิถุนายน 2565 จะมีการเรียกกรุงเทพธนาคม เข้ามาพูดคุย ส่วนกรณีที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ออกมาโพสต์ว่างบประมาณ กทม. ปี 2565 มีเหลือให้ 94 ล้านบาทนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า หลายโครงการที่โดนตัดงบไป ตนเชื่อว่าตัวเลขไม่ได้น้อยไปกว่านั้น เนื่องจากตนได้พูดคุยกับท่านรองปลัดผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ทราบมาว่ายังเหลือเงินอยู่ และนโยบาย 214 ข้อของตน เป็นนโยบายที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะ

เนื่องจากได้มีการคิดไว้แล้ว และทราบอยู่แล้วว่างบประมาณไม่เพียงพอ แต่ขอให้ไม่ต้องห่วง หลายๆ เรื่องยังขับเคลื่อนได้ และประเด็นเรื่องการเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น นายชัชชาติ ระบุว่ายังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะยังไม่รู้จะคุยอะไรขอโฟกัสเรื่องงานท้องถิ่นก่อน ตนได้รับเรื่องตั้งให้เข้ามาทำงานท้องถิ่น

หากจะพูดคุยก็จะทำตามลำดับขั้นตอน คือเข้าพบ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ส่วนประเด็นที่มีการเปรียบเทียบรัศมีทางการเมืองของระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯ กทม. นั้น นายชัชชาติ ยืนยันว่าเป็นมวยคนละชั้น ผู้ว่าฯ กทม. คือระดับท้องถิ่น แต่นายกฯ บริหารงานทั้งประเทศ เชื่อว่าไม่มีรอยต่อในการทำงานแน่นอน

นายชัชชาติ ย้ำทิ้งท้ายว่าตนให้เกียรติข้าราชการและพร้อมดูแลพวกเขาเพราะตนทำคนเดียวไม่ได้ ก่อนจะถามเหล่าเจ้าหน้าที่มายืนรายล้อมว่า พร้อมไหม จากนั้น นายชัชชาติ ย้ำว่า เดินไปด้วยกัน เราไม่ใช่นาย เราเป็นเพื่อนร่วมงาน และขอทำให้ดีที่สุด ไม่ทำให้ผิดหวัง ยืนยันว่ามีความโปร่งใส เพราะนโยบายของตนทั้งหมดได้เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์

About the author

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *