ทุกข์หนัก คนเลี้ยงกุ้งนั่งเศร้า ราคากุ้งดิ่งโลละ 20 บ. หลังมีมตินำเข้ากุ้งกว่าหมื่นตัน

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือบอร์ดกุ้ง มีมตินำเข้ากุ้ง กว่า 1 หมื่นตัน จาก เอกวาดอร์ และอินเดีย โดยอ้างว่า ไทยผลิตกุ้งได้ไม่เพียงพอต่อการเข้าสู่อุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง

โดยเฉพาะรายย่อย ซึ่ง ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบแล้ว เนื่องจากราคากุ้งในตลาด ปรับลดลงถึงกิโลกรัมละ10- 20 บาท นายปรีชา สุขเกษม หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ระบุว่า การที่บอร์ดกุ้ง มีมตินำเข้ากุ้งกว่า 1 หมื่นตันนั้น ส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย

เนื่องจาก สายป่านสั้นกว่ากลุ่มทุนที่มีฟาร์มขนาดใหญ่, การต่อรองราคากับห้องเย็นโดยตรงทำได้ยากและไม่มีกำลังในต่อรอง จำเป็นต้องขายกุ้ง ในราคาต่ำกว่าฟาร์มใหญ่ และยังเป็นกลุ่มที่ถูกอ้างเป็นเหตุผลในการรองรับทางนโยบายมาตลอด แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย และเป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ ทางนโยบายที่แท้จริง ที่ภาครัฐ ควรมุ่งแก้ปัญหามากที่สุด

เมื่อมีการนำเข้ากุ้งทำให้กุ้งในตลาดมีมาก ราคาจึงปรับตัวลดลงทันที อีกทั้งคุณภาพกุ้งที่นำเข้ามา ก็ด้อยกว่ากุ้งที่ผลิตโดยเกษตรกรไทย ดังนั้นการที่บอร์ดกุ้ง มีมติให้นำเข้ากุ้งมา จึงถือเป็นการปล่อยให้อาชีพการเลี้ยงกุ้งถูกรุกรานโดยต่างชาติ โดยที่คนไทยเปิดโอกาสให้เอง

อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรบ้าง โดยเฉพาะการส่งเสริมการเลี้ยง ให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งให้ได้ปริมาณ 4 แสนตัน ตามเป้าหมาย แทนการหาวิธีการง่ายด้วยๆ ด้วยการนำเข้ากุ้งมาซ้ำเติมเกษตรกรเช่นนี้

สำหรับราคากุ้งขาวแวนาไมนั้น เดิมเมื่อ 15 สิงหาคม ราคา ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 160 บาท ขนาด 70 ตัว/กก.ราคา 150 บาท ขนาด 80 ตัว/กก.ราคา 135 บาท ขนาด 90 ตัว/กก.ราคา 125 บาท และขนาด 100 ตัว /กก.ราคา 120 บาท ราคากุ้งขาวในวันนี้ ขนาด 60 ตัว/กก.ราคา 140 บาท ขนาด 70 ตัว/กก.ราคา 130 บาท ขนาด 80 ตัว /กก.ราคา 120 บาท ขนาด 90 ตัว/กก.ราคา 115 บาท และราคา 100 ตัว /กก.ราคา 115 บาท ซึ่งทุกขนาดปรับลดลงมาอย่างต่อ เนื่องปัจจุบันนี้ ราคาปรับลดลงมาแล้วเฉลี่ยกิโลกรัม 5-20 บาท

About the author

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *